สนใจติดต่อเพิ่มเติม 🐣 borntoDev 02-096-2899

จะโฟกัสงานที่สำคัญกับเรายังไง ในโลกที่มีแต่สิ่งรบกวน

ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน ทั้งเสียงแจ้งเตือนในโทรศัพท์ อีเมลเด้งขึ้นมาทุกห้านาที หรือแม้กระทั่งการประชุมที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจบ แล้วเราจะโฟกัสกับเรื่องสำคัญของงานเราได้ยังไง?

วันนี้แอดเปรมอยากชวนทุกคนมาคุยกันเรื่องหนึ่งในหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คนคือ Deep Work: Rules for Focused Success in a Distracted World ของ Cal Newport ซึ่งเล่มนี้พูดถึงการสร้างผลงานที่มีคุณค่าในยุคที่เต็มไปด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจ เรามาดู Key Takeaway ที่นำไปปรับใช้ได้ทันที และวิธีการนำไปใช้ในงานแต่ละสายไปพร้อมกันน

Impact ของการไม่มีสมาธิ

ลองคิดดูว่าเราใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญมากแค่ไหนในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเช็ค Social Media, ไถ Feed, การตอบข้อความที่ไม่เร่งด่วน หรือแม้แต่การประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ (และไม่มีประโยชน์เท่าไหร่) การทำงานแบบนี้ทำให้เราหลุดออกจาก Deep Work หรือการทำงานอย่างเต็มที่ไปได้ง่าย ๆ

Cal Newport บอกว่าปัญหานี้มันใหญ่กว่าที่เราคิด เพราะการที่เราไม่สามารถจมอยู่กับงานสำคัญได้นานพอ จะทำให้เราไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าหรือพัฒนาทักษะที่ลึกซึ้งได้ นี่คือจุดที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่การที่จะเอาชนะในโลกการทำงานนั้น ต้องการการฝึกฝนอย่างเข้มข้นและการโฟกัสที่ยาวนาน ดังนั้น การจัดการกับสิ่งรบกวนต่าง ๆ ไม่ได้แค่ช่วยให้เราทำงานเร็วขึ้น แต่ยังทำให้เราสร้างงานที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย

มาดูวิธีการจัดการกับสิ่งรบกวนกัน

ในหนังสือ Deep Work ได้แนะนำวิธีการต่าง ๆ ในการจัดการกับสิ่งรบกวนและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานแบบลึก ๆ หรือ ดำดิ่ง (Deep Work) หลัก ๆ ที่สรุปเอาไว้ให้เป็น Concept ไปคิดตามได้ดังนี้

  1. สร้างพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน
    การสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น การปิดแจ้งเตือนทุกอย่างในเวลาที่ทำงาน (ถ้าเป็น iPhone หรือ มือถือเดี๋ยวนี้แอดตั้ง Mode Focus แทบจะตลอด ให้มีแค่เฉพาะเบอร์คนพิเศษโทรมาได้เท่านั้น) หรือการหาพื้นที่ที่ไม่มีคนรบกวน นี่คือขั้นแรกในการสร้างบรรยากาศให้เราทำงานอย่างลึกซึ้ง แบบ Deep work ได้อย่างเต็มที่
  2. จัดตารางเวลาสำหรับ Deep Work
    เราควรกำหนดช่วงเวลาที่จะทำงานลึก ๆ ในแต่ละวัน การมี “บล็อกเวลา” สำหรับการทำงานนี้จะช่วยให้เรารักษาความต่อเนื่องในการโฟกัสงานได้ การที่เรามีเวลาเฉพาะให้กับ Deep Work ยังช่วยให้เราตัดสิ่งรบกวนในช่วงเวลานั้นออกไปได้โดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งตรงนี้แอดว่ามันเหมือนกันกับเรื่องของ “เงินเก็บ” เลย ตรงที่ว่า ถ้าเราแบ่งเงินเก็บออกมาก่อน เราจะเหลือเงินเก็บจริง ๆ แต่ถ้าเราไม่แบ่งออกมา ยังไงสิ้นเดือนมันก็หมดไปอยู่ดี
  3. ฝึกฝนทักษะการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งรบกวน
    การฝึกฝนนี้อาจเริ่มจากการทำงานที่ไม่ใช้เทคโนโลยี เช่น การจดโน้ตด้วยมือ หรือ การเขียนโค้ดแบบออฟไลน์ ซึ่งถ้ามันยากไปอาจจะแค่แยกเครื่องที่ไว้เล่นเพลงไว้ห่าง ๆ (จะได้ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเยอะ) แล้วเขียนโค้ดในคอม จดโน้ตใน iPad ปกติ แต่แค่ไม่เปิดแจ้งเตือนก็ได้ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เราคุ้นชินกับการทำงานโดยไม่มีสิ่งเบี่ยงเบน

🎯 Tip จากแอดเปรม: ลองจัดเวลาในแต่ละวันให้ชัดเจน เช่น ทำ Deep Work ช่วงเช้า แล้วช่วงบ่ายจัดการกับงานประจำ เช่น ตอบอีเมล หรือประชุม จะช่วยให้เราใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง

ทีนี้เรามาลงตัวอย่างการนำไปใช้ในสายงานต่าง ๆ บ้าง

“การโฟกัสที่มากพอและถูกที่ มักจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกต้อง”

การปรับใช้หลักการของ Deep Work สามารถทำได้ในหลายสายงาน ลองมาดูตัวอย่างบางสายงานที่อาจจะตรงกับเพื่อน ๆ ที่กำลังอ่านอยู่ หรือ ถ้าใครมีอันไหนแนะนำ พิมพ์มาได้เลย

  1. สายพัฒนาโปรแกรม (Developer)
    นักพัฒนาโปรแกรมจำเป็นต้องใช้เวลาในการคิดและเขียนโค้ดแบบไม่ถูกขัดจังหวะ การทำ Deep Work จะช่วยให้พวกเราเขียนโค้ดได้เร็วขึ้นและแก้ปัญหาเชิงเทคนิคที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น วิธีการนำไปใช้คือการปิด Slack, อีเมล และ Social Media ในช่วงเวลาที่ทำงานกับโค้ดที่ต้องใช้ความคิดสูง ๆ ซึ่งเราไม่ใช่ปิดตลอดเวลา แต่แบ่งเวลาที่ปิดเอาไว้เลย
  2. สายงานธุรการ (Administrative)
    งานในสายธุรการมักจะเต็มไปด้วยการจัดการเอกสาร การประสานงานกับหลายฝ่าย และการแก้ปัญหาด่วนเป็นประจำ ทำให้มักจะเจอสิ่งรบกวนได้ตลอดเวลา หลักการ Deep Work จึงมีประโยชน์มากในการจัดการงานที่สำคัญ เช่น การทำรายงานหรือตรวจสอบข้อมูล เราสามารถจัดเวลา 1-2 ชั่วโมงในช่วงเช้าเพื่อทำงานที่ต้องใช้สมาธิอย่างมาก เช่น การตรวจสอบเอกสารสำคัญ โดยปิดการแจ้งเตือนจากอีเมลหรือโทรศัพท์ชั่วคราว
  3. สายงานการตลาด (Marketing)
    คนทำงานสายการตลาดต้องคอยคิดแคมเปญสร้างสรรค์และวางแผนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดลูกค้า การถูกขัดจังหวะจากการประชุมหรือตอบกลับลูกค้าเรื่อย ๆ อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างไอเดียดี ๆ ได้ การทำ Deep Work สามารถนำมาใช้ในช่วงที่ต้องการคิดไอเดียสร้างสรรค์หรือตรวจสอบผลลัพธ์จากการทำการตลาด
  4. สายงานการเงิน (Finance)
    งานการเงินเป็นอีกหนึ่งสายที่ต้องการความแม่นยำและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน งานที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบงบการเงินหรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จำเป็นต้องมีสมาธิสูง และการถูกรบกวนจะทำให้ความแม่นยำลดลง หลักการ Deep Work ช่วยให้เรามีช่วงเวลาสำหรับงานที่ต้องใช้สมาธิและความละเอียดอย่างเต็มที่ เช่น การจัดช่วงเช้าสำหรับการตรวจสอบงบประมาณ และช่วงบ่ายสำหรับการประชุมหรือตอบอีเมล ก็ได้
  5. ผู้บริหารหรือผู้จัดการ (Manager)
    แม้จะเป็นงานที่ต้องประสานงานและติดต่อกับคนหลายฝ่าย แต่ Deep Work ก็สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงเวลาที่ต้องคิดแผนงาน การวางกลยุทธ์ หรือตัดสินใจเรื่องสำคัญ ควรมีเวลาอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมงสำหรับการคิดและวางแผนโดยไม่ต้องตอบข้อความหรือรับโทรศัพท์เหมือนกัน ซึ่งอันนี้แอดเปรมก็ใช้อยู่ด้วย

🚀 เอาจริง ๆ นะ บอกเลยว่าสายงานไหนก็เอาไปใช้ได้! แค่ปรับวิธีการให้เข้ากับงานของเราเอง

สรุปส่งท้าย

ในยุคที่มีแต่สิ่งรบกวน เราทุกคนต่างมีปัญหาในการโฟกัสกับงานสำคัญ แต่ถ้าเรานำแนวคิดของ Deep Work มาปรับใช้ การทำงานของเราจะไม่ใช่แค่เร็วขึ้น แต่จะลึกซึ้งและมีคุณค่ามากขึ้นด้วย ลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรากันดู แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในการทำงานแน่นอน

การสร้างสมาธิไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเรามีวิธีการที่ดี เราจะทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำได้จริง ๆ😄 และ สำหรับใครที่อยากอ่านแบบเต็ม ๆ แอดเปรมแนะนำเล่มนี้ ลองไปหาซื้อกันได้เลยครับ จิ้ม

I’m the founder and Managing Director of BorntoDev Co., Ltd. ,where we focus on both delivering innovative technology solutions and making technology education accessible to everyone.